ส่องรายได้แรงงานไทยในอิสราเอล อีกหนึ่งปัจจัยที่แรงงานไทยไม่ยอมกลับบ้าน แม้จะมีภาวะสงครามก็ตาม

47

อีกหนึ่งปัจจัยที่แรงงานไทยไม่ยอมกลับบ้าน แม้สถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่แรงงานไทยหลายคนในพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่ประสงค์กลับประเทศไทย เหตุผลหนึ่ง มาจากรายได้ที่สูง กลัวว่าจะไม่มีงานทำเมื่อกลับมายังประเทศไทย และก็กลัวว่าจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลไม่ได้อีก

จากบทสัมภาษณ์ของแรงงานไทยรายหนึ่งที่ทำงานในสวนผลไม้ เมืองกิวาทโยอัฟ ทางตอนเหนือของอิสราเอล และเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่คิดจะเดินทางกลับประเทศไทยในตอนนี้ โดยเขาเล่าว่าเคยเข้าร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยไปฝึกงานที่อิสราเอล จากนั้นก็กลับมาประเทศไทย ก่อนสมัครเข้าโครงการส่งแรงงานไปอิสราเอลกับกระทรวงแรงงาน โดยทำสัญญากับนายจ้างระยะเวลาทำงาน 2 ปี ตอนนี้ทำงานมาได้ 1 ปี 3 เดือนแล้ว และหลังหมดสัญญานี้ จะต่อสัญญากับนายจ้างไปอีก 3 ปี 3 เดือน

ปัจจัยที่ทำให้แรงงานคนนี้อยากไปทำงานที่อิสราเอล เพราะรายได้สูงกว่าประเทศไทยประมาณ 3 เท่า เช่น หากได้เงินเดือนที่ไทย 15,000 บาท แต่ที่อิสราเอลจะได้อยู่ที่ประมาณ 45,000 บาท นี่จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยอยากไปทำงานที่อิสราเอล

ขณะที่ แรงงานไทยอีกคนที่เพิ่งเดินทางไปทำงานด้านเกษตร ที่เมืองเทลอาวีฟ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว บอกว่า ยังไม่อยากเดินทางกลับประเทศไทย หากสถานการณ์ยังไม่เข้าขั้นสงคราม อีกทั้งจุดที่เขาอยู่นั้นห่างจากพื้นที่พิพาท จึงอยากอยู่ทำงานเก็บเงิน และ กังวลว่า หากกลับไทย จะไม่มีงานทำ และ กลับไปทำงานที่อิสราเอลไม่ได้อีก

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยว่า รายได้ของแรงงานไทยในอิสราเอล เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 55,000 บาทต่อเดือน เป็นระบบการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ โดยแรงงานจะสามารถเดินทางไปทำงานได้เพียง 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน

สำหรับค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางไปทำงานอิสราเอล ประกอบด้วย

ค่าตั๋วเครื่องบินไป 25,000 บาท,ค่าตรวจประวัติอาชญากรรม 100 บาท,ค่าตรวจสุขภาพ 4,750 บาท,พาสปอร์ต 1,500 บาท,ค่ากองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 400 บาท,ค่าบริการจัดหางาน 38,000 บาท และค่าอุปกรณ์อื่นๆ อีก 600 บาท

ขณะที่ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า แรงงานไทยที่ประสงค์กลับประเทศ สามารถกลับไปทำงานได้อีก หากอายุงานยังเหลืออยู่

สำหรับแรงงานที่ยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หน่วยงานในพื้นที่ได้พยายามพาแรงงานไทยมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ขณะที่ครอบครัวของแรงงานที่อยู่ในไทย ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ประสานดูแลให้ข้อมูลครอบครัวแรงงานอย่างใกล้ชิด