เผยวิธีเช็กใบสั่งออนไลน์ จ่ายค่าปรับได้ทันที ค้างกี่ใบรู้หมด

2110

ก่อนหน้านี้ ได้มีผู้ขับขี่ท่านหนึ่งออกมาโพสต์อุทาหรณ์ ไปต่อภาษีรถยนต์ ที่สำนักงานขนส่ง แล้วถูกเปรียบเทียบปรับ ค่าใบสั่งของตำรวจยอดกว่า 3,000 บาท เนื่องจากทำผิดกฎจราจร แต่ไม่ได้ไปเสียค่าปรับ จึงต้องถูกปรับในช่วงที่ไปต่อภาษี มิเช่นนั้นจะไม่สามารถต่อภาษีได้

โดยเรื่องนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ส่งต่อข้อมูลและเชื่อมระบบเข้าด้วยกันมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 เมษ.ย.66 เป็นต้นมา ผู้ใช้รถที่ยังไม่สะดวกที่จะชำระค่าปรับกับสำนักงานขนส่ง ทางสำนักงานขนส่งจะออกใบต่อภาษีชั่วคราวไปให้ซึ่งมีระยะเวลา 30 วัน และเมื่อผู้ใช้รถไปดำเนินการชำระค่าปรับกับตำรวจเสร็จสิ้นแล้ว ทางสำนักงานขนส่งจะส่งใบต่อภาษีรถตัวจริงไปให้กับเจ้าของรถที่บ้านในภายหลัง

หากต้องการทราบว่า มีการค้างชำระค่าใบสั่งจราจรหรือไม่ ก่อนมาต่อภาษี สามารถเข้าไปเช็กใบสั่งค้างชำระได้ที่ https://ptm.police.go.th

วิธีเช็กใบสั่งออนไลน์ ผ่านเว็บของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

เข้าเว็บไซต์ https://ptm.police.go.th/eTicket

ลงทะเบียนผู้ใช้งาน โดยกรอกหมายเลขบัตรประชาชน, หมายเลขใบขับขี่ หรือหมายเลขทะเบียนรถ

ดำเนินการเข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งไว้

ค้นหาใบสั่งโดยระบุวันที่กระทำผิด จากนั้นกดปุ่ม ค้นหา (สามารถกรองข้อมูลด้วยเลขทะเบียนรถหรือหมายเลขใบสั่งได้)

หน้าจอจะปรากฏรายการใบสั่งที่เคยได้รับ โดยสามารถคลิกดูรายละเอียดของใบสั่งแต่ละฉบับได้ (กรณีได้รับใบสั่งมากกว่า 1 คัน จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครอบครองคนเดียวกัน)

ดำเนินการชำระค่าปรับออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT หรือชำระที่สถานีตำรวจ, ธนาคารกรุงไทย, สาขาของไปรษณีย์ไทย, ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทยหรือตู้บุญเติม

เมื่อทำตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว หน้าจอจะแสดงรายการใบสั่งจราจรที่ออกให้กับผู้ใช้งาน หากมีใบสั่งจราจรค้างชำระ หน้าจอจะแสดงรายละเอียดของใบสั่งจราจรนั้นๆ เช่น สถานที่และเวลาเกิดเหตุ, ข้อหาที่กระทำความผิด, ค่าปรับและโทษปรับทางอาญา (หากมี)

หากต้องการชำระค่าปรับใบสั่งจราจร สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ธนาคารกรุงไทย, สาขาของไปรษณีย์ไทย, ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทยหรือตู้บุญเติม

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ