ฝนใกล้เข้ามาแล้วจ้า! ทำนายฝนสะสม 10 วันล่วงหน้า ช่วงเปลี่ยนถ่ายฤดูร้อนเข้าฤดูฝน

62

รายงานจากกรมอุตุฯ โดยออกประกาศพยากรณ์อากาศรายภาคของประเทศไทย พร้อมแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณประเทศไทย ประจำวันที่ 25 เมษายน 2566 รอบเวลา 05.00 น. พร้อมทั้งพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 25 เม.ย.-4 พ.ค.66 เป็นช่วงที่จะเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดู (จากฤดูร้อนจะเข้าสู่ฤดูฝน) ทำให้ทิศทางลมและอากาศแปรปรวน ไทยตอนบน-ตะวันออกมีพายุฤดูร้อน ส่วนทางใต้ให้ระวังคลื่นทะเลสูง

โดยมีรายงานดังต่อไปนี้

พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 25 เม.ย.-4 พ.ค.66 อัพเดท 2023042412 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) :

ระยะนี้ 25-27 เม.ย.66 ทิศทางลมและอากาศแปรปรวน เป็นช่วงที่จะเริ่มเปลี่ยนถ่ายฤดู (จากฤดูร้อนจะเข้าสู่ฤดูฝน) วันนี้ยังมีพายุฤดูร้อน (ฝนฟ้าคะนอง) เกิดขึ้นได้บางจุด บางพื้นที่ของไทย และอากาศยังร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ เนื่องจากยังมีลมใต้ ตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้าปกคลุมบริเวณภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ส่วนด้านตะวันตกของประเทศ ยังมีลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ พัดปกคลุม

ส่วนภาคใต้มีลมตะวันออก พัดปกคลุมภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ต้องระวังทั้งสภาพอากาศร้อนและร้อนจัด และพายุฤดูร้อน (ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่าและลูกเห็บ) ที่ยังเกิดขึ้นได้ ต้องเตรียมรับมือฝนที่ตกพอจะช่วยคลายร้อนและเพิ่มความชื้นในอากาศได้บ้าง และฝนจะยังตกต่อเนื่องช่วงบายถึงค่ำไปถึงต้นเดือนหน้า แต่ปริมาณฝนส่วนใหญ่เป็นฝนเล็กน้อย ถึงปานกลาง

สำหรับภาคใต้ ลมตะวันออกพัดปกคลุม ยังมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทย คลื่นลมมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง แต่ระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่)

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (25 เม.ย. 66)

ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 25 – 26 เม.ย. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

วันที่ 27 – 28 เม.ย. 66 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางพื้นที่

วันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ ทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองต่อเนื่อง

ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ข้อควรระวัง: ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพ และระวังโรคลมแดดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด ตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 26 เม.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง

สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย และขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (24 – 25 เม.ย. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4.0 และ 4.8 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

รวมถึงมีประกาศเตือน พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่7 (117/2566) (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 25-26 เมษายน 2566)

วันที่ 25-26 เมษายน 2566 ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจาก พายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น
จังหวัดที่คาดว่าจะมีผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 25 เมษายน 2566

ภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก

จังหวัดนครนายกปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคกลาง

จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

วันที่ 26 เมษายน 2566

ภาคเหนือ

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง

จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก

จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 05.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น.